คอสเพลย์ออริจินอล

เป็นนิยามที่ “ยังไม่สามารถระบุความชัดเจน” ได้แน่ชัด เนื่องจากว่า “คอสเพลย์ออริจินอล” ยังเป็นที่ถกเถียงว่าควรจะนับหรือถือว่าเป็นคอสเพลย์หรือไม่ โดยได้มีหลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นนานาทัศนะในมุมมองต่างๆ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปชัดเจนได้

นิยามที่ 1 : Costume + Play แปลว่าการเล่นเสื้อผ้า

นิยามนี้เป็นนิยามของคอสเพลย์ออริจินอลที่มักจะใช้ในการอธิบายความหมายมากที่สุด กล่าวคึอ เป็นการแต่งกายคอสเพลย์โดยคิดหรือออกแบบชุด หรือท่าทางการแสดง ขึ้นมาด้วยตัวเองทั้งหมด

ในมุมมองสนับสนุนนั้น นิยามว่า Cosplay คือ Costume + Play นั่นแปลตรงตัว คือ “เล่นเสื้อผ้า” ซึ่งในที่นี้ การคอสเพลย์ออริจินอลก็ถือเป็นการเล่นเสื้อผ้าในรูปแบบหนึ่ง เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องมีต้นแบบ หรือ รูปแบบอะไรมาก เน้นความสนุกที่ได้เล่นแต่งกายเสื้อผ้า ดังนั้น การแต่งกายเช่น ชุดเมด ชุดพยาบาล ชุดพังค์ ฯลฯ ถือว่าเป็นคอสเพลย์ในความหมายนี้ทั้งสิ้น

ในมุมมองโต้แย้งได้อธิบายว่า การคิดขึ้นมาเองทั้งหมดนั้นค่อนข้างจะขัดกับนิยามของคอสเพลย์ที่ว่า “แต่งกายเลียนแบบ” เพราะขาดการเลียนแบบค้นแบบไป ทั้งการออกแบบคิดขึ้นเองทั้งหมดนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการแต่งแฟนซี หรือ แฟชั่น เพราะไม่มีการเลียนแบบ ดังนั้นควรจะเรียกว่าเป็น”ชุดออริจินอล” มากกว่า “คอสเพลย์ออริจินอล”

สำหรับคอสเพลย์ออริจินอลในนิยามนี้ โดยส่วนมากจะเป็นประเด็นในกรณีที่ขึ้นประกวดคอสเพลย์ เนื่องจากการประกวดคอสเพลย์ส่วนมากนั้นยึดหลัก “นิยามคอสเพลย์คือการแต่งกายเลียนแบบ” ดังนั้นจะมีเกณฑ์การให้คะแนนความเหมือน ซึ่งการคอสเพลย์ออริจินอลนั้น ไม่มีต้นแบบเปรียบเทียบว่าเหมือนอย่างไร จึงมีบางงานที่มีกติกาไม่อนุญาตให้ชุดออริจินอลขึ้นประกวด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการให้คะแนน

นิยามที่ 2 : ประยุกต์จากต้นแบบที่มีอยู่แล้ว

นิยามนี้ยังไม่แพร่หลาย และไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรนัก
คอสเพลย์ออริจินอล นิยามนี้หมายถึง การแต่งกายเลียนแบบโดยมีการ “ประยุกต์ชุดจากต้นแบบที่มีอยู่แล้ว” ให้เป็นลักษณะเอกลักษณ์ของตัวเอง

สำหรับ นิยามนี้นั้น ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับนิยามกับคอสเพลย์มากกว่านิยามที่ 1 เพราะมีทั้ง “การเลียนแบบ” และ “การประยุกต์ออกแบบเอง” แต่ทั้งนี้ นิยามนี้นั้น มักไม่ได้ถูกเรียกว่าเป็นการคอสเพลย์ออริจินอลเท่าไร แต่มักถูกเรียกในเชิง คอสเพลย์ประยุกต์ เปลี่ยนแปลง คอสเพลย์แนวแฟนอาร์ต ฯลฯ เป็นต้น

ตัวอย่างที่ 1

ตัวอย่าง คอสเพลย์ออริจินอล ประยุกต์จากต้นแบบ “โดราเอมอน”

จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับต้นแบบแล้ว จะไม่ได้เหมือนแบบทั้งหมด (เช่น ไม่ได้ทำหัวกลม ทำมือกลม ฯลฯ) ทั้งที่ใส่ชุดเมด แต่ก็สามารถดูออกได้ว่าตั้งใจคอสเพลย์เป็น โดราเอมอนได้ โดยมีทั้งส่วนที่คิดประยุกต์ขึ้นมาเอง (เช่น ชุดเมด) และส่วนที่เลียนแบบ (เส้นสีเขียวในรูป) เช่น

– การเลือกโทนสีอันเป็นเอกลักษณ์ คือ สีฟ้า ขาว
– ปลอกคอกระดิ่ง
– กระเป๋าหน้าท้อง

ซึ่งคอสเพลย์เยอร์ได้เลือกจุดเด่นของโดราเอมอนมาเลียนแบบจึงทำให้มองออกว่าคอสเพลย์เป็นอะไร

ตัวอย่างที่ 2

ตัวอย่างคอสเพลย์ออริจินอลประยุกต์จากเรื่อง นารูโตะ (กดที่รูปเพื่อขยาย)

ในตัวอย่างที่ 2 จะเห็นได้ว่า จะมีความเหมือนต้นแบบค่อนข้างมาก (ส่วนเส้นมีเขียวคือส่วนที่เหมือน) แต่ก็มีการเปลี่ยน ประยุกต์ หรือเพิ่มชุด และวัสดุอุปกรณ์เสริม เพื่อให้มีความเป็นตัวเองมากขึ้น (เส้นสีแดง)

อย่างไรก็ตาม ในความจริงแล้ว การคอสเพลย์นั้น ไม่มีทางที่จะสามารถออกมาเหมือนแบบได้ทั้งหมด 100% ได้ การคอสเพลย์ปกติจึงมีความเป็นออริจินอลประยุกต์ในแต่ละคน เพียงแต่ข้อแตกต่างคือ คอสเพลย์ ปกตินั้นมีเจตนาเหมือนที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าต้องมีประยุกต์อยู่บ้าง ในขณะที่คอสเพลย์ออริจินอลในนิยามที่ 2 เจตนาคือ เลียนแบบโดยตั้งใจที่จะมีส่วนที่ตัวเองต้องการเพิ่ม เสริม แต่งประยุกต์นั่นเอง

ข้อถกเถียงอื่นๆ

ทั้งนี้ ชุดอย่าง ชุดเมด ชุดพังค์ ชุดโกธิค ชุดโลลิต้า ชุดนางพยาบาล ฯลฯ นั้นก็จัดได้ว่า เป็นหัวข้อในการอภิปรายอยู่เสมอว่า ถือว่าเป็นคอสเพลย์หรือไม่

หากใช้นิยามที่ 1 ในการอธิบาย
ฝ่ายสนับสนุน : ถือว่าเป็นคอสเพลย์ออริจินอล เพราะ Costume Play คือ เล่นเสื้อผ้า แม้ไม่มีต้นแบบก็ไม่เป็นไร
ฝ่ายโต้แย้ง : ไม่ถือว่าเป็นคอสเพลย์ เพราะขาดต้นแบบในการเลียนแบบ (ยกเว้นแต่ว่า มีต้นแบบ ตัวละครที่ใส่ชุดโกธิค โลลิต้านั้น ๆ แล้วคนคอสตั้งใจคอสให้เหมือนตัวละครนั้น)

หากใช้นิยามที่ 2 ในการอธิบาย
ไม่ถือว่าเป็นคอสเพลย์ออริจินอล เพราะ ไม่ได้มีต้นแบบในการประยุกต์